วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

คำสรรพนาม


😆คำสรรพนาม
คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามหรือข้อความที่กล่าวมาแล้ว เพื่อจะไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำอีก

ชนิดของคำสรรพนาม
   คำสรรพนามมี ๖ ชนิด คือ
   ๑. บุรุษสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนผู้พูด ผู้ที่พูดด้วย และผู้ที่พูดถึง แบ่งออกเป็น  ๓ ชนิด คือ
   บุรุษที่ ๑ ใช้แทนผู้พูด เช่น ผม ฉัน ข้าพเจ้า ดิฉัน อาตมาภาพ
   บุรุษที่ ๒ ใช้แทนผู้ฟัง เช่น คุณ เธอ ท่าน ใต้เท้า ฝ่าบาท
   บุรุษที่ ๓ ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง เช่น เขา  มัน ผู้ใด ใคร

   ๒. ประพันธสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามหรือคำสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า ได้แก่ ผู้ ที่ ซึ่ง อัน ดัง ผู้ที่ ผู้ซึ่ง เป็นต้น
      ตัวอย่างเช่น
- คนที่ออกกำลังกายอยู่เสมอร่างกายมักแข็งแรง
- เกาหลีใต้ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกำลังมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

   ๓. วิภาคสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามหรือคำสรรพนามที่แยกออกเป็นแต่ละคน แต่ละสิ่ง หรือแต่ละพวก ได้แก่ ต่าง บ้าง กัน เป็นต้น
      ตัวอย่างเช่น
- ความคิดต่างกันต่างก็ทะเลาะกัน
- นักเรียนบ้างก็เรียนบ้างก็เล่น

   ๔. นิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามชี้เฉพาะเพื่อบ่งบอกความให้ชัดเจน ได้แก่ นี่ นั่น โน่น นี้ นั้น โน้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น เช่นนี้ เช่นนั้น อย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น เป็นต้น
     ตัวอย่างเช่น
- นั่นอะไรนะ
- โน่นของเธอไงล่ะ

    ๕. อนิยมสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามทั่วไป ไม่ชี้เฉพาะเจาะจงเหมือนนิยมสรรพนาม ได้แก่ ใคร อะไร ไหน ใด เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- ใครขยันก็สอบไล่ได้
- เขาเป็นคนที่ไม่สนใจอะไรเลย

   ๕. ปฤจฉาสรรพนาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามแต่มีเนื้อความเป็นคำถาม ได้แก่ อะไร ใคร ไหน ผู้ใด เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- อะไรเสียหายบ้าง
- ไหนล่ะโรงเรียนของเธอ

ข้อสังเกต คำอนิยมสรรพนามกับปฤจฉาสรรพนามต่างกันที่ความในประโยค ถ้าเป็นคำถามก็เป็นปฤจฉาสรรพนาม เช่น
 ปฤจฉาสรรพนาม                               อนิยมสรรพนาม
  ใครทำเเก้วเเตก                              ใครไม่ดูหนังสือก็สอบตก
    เขาดูอะไร                                อะไรก็สู้ออกกำลังกายไม่ได้                    
  เขาไปที่ไหน                                     ที่ไหนฉันก็อยู่ได้

หน้าที่ของคำสรรพนาม
   ๑. เป็นประธานของประโยค  เช่น       
   - เขาไปโรงเรียน                        
   - ใครทำดินสอตกอยู่บนพื้น

   ๒. ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค (ผู้ถูกกระทำ)  เช่น
             - ครูจะตีเธอถ้าเธอไม่ทำการบ้าน      
   - คุณช่วยเอานี่ไปเก็บได้ไหม

   ๓. ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มหรือส่วนสมบูรณ์  เช่น
   - กำนันคนใหม่ของตำบลนี้คือเขานั่นเอง    
   - เขาเป็นใคร

   ๔. ใช้เชื่อมประโยคในประโยคความซ้อน  เช่น
   - ครูชมเชยนักเรียนที่ขยัน

   ๕. ทำหน้าที่ขยายนามที่ทำหน้าที่เป็นประธานหรือกรรมของประโยค เพื่อเน้นการแสดงความรู้สึกของผู้พูด จะวางหลังคำนาม  เช่น
   - คุณครูท่านไม่พอใจที่เราไม่ตั้งใจเรียน        
   - ฉันแวะไปเยี่ยมคุณปู่ท่านมา


บรรณานุกรม
          กำชัย  ทองหล่อ. (๒๕๓๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.
          วิเชียร  เกษประทุม. (๒๕๕๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : พ.ศ. พัฒนา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น