วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

คำนาม



😍คำนาม
          คำนาม คือ คำที่เป็นชื่อของคน สัตว์ สถานที่ สิ่งของ และกริยาอาการ

ชนิดของคำนาม
   ๑. สามานยนาม คือ คำนามที่เป็นชื่อของคน สัตว์ สถานที่ และสิ่งของ เช่น
   พ่อ       แม่       น้า       อา        ย่า        ตา
                     แมว      สุนัข      สุกร       วัว        หนู       นก
 ทะเล     ตลาด   สวนสัตว์   บ้าน  โรงเรียน    วัด
ปากกา    เสื้อผ้า    เก้าอี้     พัดลม  กำไล      โต๊ะ

   ๒. สมุหนาม คือ คำนามที่บอกหมวดหมู่ เช่น
    ฝูง          โขลง        คณะ     พวก       กอง     เหล่า
กระทรวง     รัฐบาล      องค์กร   บริษัท    ชมรม    กรม

   ๓. วิสามานยนาม คือ คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สถานที่ และสิ่งของ เช่น
                    แม่น้ำตาปี    เขื่อนรัชชประภา   สุราษฎร์ธานี     เทือกเขาหิมาลัย
                     ป้าเขียว          พี่ธาม               ลุงตู่             น้องมายด์
                    วันอาทิตย์     เดือนมีนาคม       ประเทศไทย         สุนทรภู่
                   วัดธรรมกาย    ช้างก้านกล้วย      หลินปิง              สุขุมวิท

   ๔. ลักษณนาม คือ คำนามที่ทำหน้าที่ประกอบคำนามอื่น เพื่อแสดงรูปลักษณะ ขนาด ของนามนั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
  ช้าง ๑ เชือก      นาฬิกา ๕ เรือน       ที่ดิน ๓ แปลง     รถ ๖ คัน
   เรือ ๒ ลำ           ไม้ไผ่ ๖ ลำ           แห ๒ ปาก       นก ๖ ตัว
กระดาษ ๕ แผ่น      ใบไม้ ๒ ใบ         ดินสอ ๔ แท่ง       ปี่ ๑ เลา
  แหวน ๑ วง       หนังสือ ๒ เล่ม        เชือก ๓ เส้น      อิฐ ๒ ก้อน
พระภิกษุ ๕ รูป  พระพุทธรูป ๑ องค์     เก้าอี้ ๒ ตัว       ไข่ ๑ ฟอง
    วัด ๑ วัด       จังหวัด ๑ จังหวัด     ต้นไม้ ๑ ต้น        คน ๒ คน

 ๕. อาการนาม คือ คำนามที่เกิดจากคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ที่มีคำว่า “การ” หรือ “ความ” นำหน้า เช่น
   ความเร็ว      ความชั่ว          ความดี          ความรัก
   ความคิด      ความร้อน        ความรู้         ความเจริญ
  ความตาย      ความฝัน      ความเมตตา     ความสะอาด
   การเดิน        การพูด           การวิ่ง         การนอน
การออกเสียง   การปราศรัย      การยืน          การไหว้


หน้าที่ของคำนาม
   ๑. คำนามทำหน้าที่เป็นผู้กระทำหรือทำหน้าที่ประธาน ตัวอย่างเช่น
       - ภารโรงเก็บขยะ
       - นักเรียนเล่นฟุตบอล

   ๒. คำนามทำหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำหรือทำหน้าที่กรรม ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ
      ๒.๑ คำนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรมตรง ตัวอย่างเช่น
      - ครูอ่านหนังสือ
      - เด็กถูกสุนัขกัด

      ๒.๒ คำนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรมรอง ตัวอย่างเช่น
      - แม่ป้อนข้าวลูก
      - ฉันให้เงินน้อง

   ๓. คำนามที่ขยายคำนามอื่นที่มาข้างหลัง ตัวอย่างเช่น
      - ผลไม้ฤดูร้อนมีหลายชนิด
      - นกกลางคืนบินขวักไขว่

   ๔. คำนามทำหน้าที่ขยายคำกริยาเพื่อบอกสถานที่ ทิศทาง เวลา เครื่องมือ จุดหมาย แหล่งเดิม ผู้มีส่วนร่วม สาเหตุ ลักษณะ ตัวอย่างเช่น
      - ฉันจะไปนครสวรรค์ (บอกสถานที่)
      - เรื่อเล่นไปทิศเหนือ (บอกทิศทาง)
      - พ่อเดินทางมาถึงตอนกลางคืน (บอกเวลา)
      - คนร้ายตีเจ้าทรัพย์ด้วยท่อนไม้ (บอกเครื่องมือ)
      - ฉันวิ่งไปหาเพื่อน (บอกจุดหมาย)
      - เขาซื้อผลไม้จากสวนทิพย์ (บอกแหล่งเดิม)
      - วิชาทะเลาะกับวิชาญ(บอกผู้มีส่วนร่วม)
      - ชูชาติเรียนแพทย์เพราะพ่อ (บอกสาเหตุ)
      - ธนาขับรถด้วยความตั้งใจ (บอกลักษณะ)

   ๕. คำนามทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มให้แก่กริยา ส่วนเติมเต็มคือ ส่วนที่ขยายกริยาให้มีความชัดเจนว่าเป็น เหมือน คือ คล้าย เท่า ตัวอย่างเช่น
      - เขาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
      - เธอเหมือนดารา
      - สัตว์คือสิ่งมีชีวิต
      - แมวคล้ายเสือ
      - น้องสูงเท่าพี่

   ๖. คำนามทำหน้าที่บอกลักษณะ ตัวอย่างเช่น
      - เรือหลายลำจอดเรียงรายอยู่ริมฝั่ง
     - พจนานุกรมเล่มนี้หนามาก


บรรณานุกรม
          กำชัย  ทองหล่อ. (๒๕๓๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.
วิเชียร  เกษประทุม. (๒๕๕๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : พ.ศ. พัฒนา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น