วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

คำอุทาน






😘 คำอุทาน
คำอุทาน คือ คำที่แสดงถึงเสียงที่เปล่งออกมาในเวลาดีใจ เสียใจ ตกใจ ประหลาดใจ หรือ กริ่งใจ เป็นต้น หรือเป็นคำที่ใช้ต่อถ้อยเสริมบทให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น

ชนิดของคำอุทาน
   ๑. อุทานบอกอาการ
      ๑. ใช้แสดงความรู้สึกต่างๆในการพูด เช่น
ชิชิๆ! ชิชะ!      ใช้แสดงความรู้สึก          เสียดายหรือโกรธ
โธ่!                 ใช้แสดงความรู้สึก          อนาถใจ หรือสงสาร
พุทโธ่!             ใช้แสดงความรู้สึก          สงสาร น้อยใจ เสียใจ
บ๊ะ! วะ!           ใช้แสดงความรู้สึก          ประหลาดใจ
วา!                ใช้แสดงความรู้สึก          หมดหวังหรืออ่อนใจ
หื้อหือ!           ใช้แสดงความรู้สึก          ห้ามหรือทักท้วง
เหม่!              ใช้แสดงความรู้สึก          โกรธ
แหม!             ใช้แสดงความรู้สึก          แปลกหรือประหลาใจ
อนิจจา!          ใช้แสดงความรู้สึก          สงสารหรือสลดใจ
อ๊ะ!               ใช้แสดงความรู้สึก          ประหลาดใจ อย่างไม่พอใจ
อือ!               ใช้แสดงความรู้สึก          ประหลาดใจ เจ็บปวด
อุบ๊ะ!              ใช้แสดงความรู้สึก          ไม่พอใจ
เอ!                ใช้แสดงความรู้สึก          แปลกใจ
เอ๊ะ!               ใช้แสดงความรู้สึก          ฉงนหรือไม่เข้าใจ
เอ้อเฮอ!          ใช้แสดงความรู้สึก          พิศวงหรือประหลาดใจ
โอย! โอ้ย!        ใช้แสดงความรู้สึก          เจ็บปวด
ฮะ!                ใช้แสดงความรู้สึก          ประหลาดใจ
ฮ้า!                ใช้แสดงความรู้สึก          ห้าม ประหลาดใจ เอะใจ
ฮึ!                 ใช้แสดงความรู้สึก          ไม่พอใจ เอ้ ผิดหวัง หรือไม่พอใจ
เฮ้ย!               ใช้แสดงความรู้สึก          ดุ ตวาด หรือให้รู้ตัว
เฮ้ว!               ใช้แสดงความรู้สึก          เยอะเย้ย
เฮ้อ!               ใช้แสดงความรู้สึก          ถอนใจใหญ่
ไฮ้!                ใช้แสดงความรู้สึก          ห้ามหรือขัดขวาง

     ตัวอย่างเช่น
 - อุ๊ยเจ็บจังเลย
 - โอ้โฮน่าตื่นเต้นจริงๆ
 - โอ๋อย่าร้องไห้ไปเลยลูก
 - อนิจจาไม่น่าเลย ช่างน่าสงสารเสียจริงๆ
 - เฮ้อผมละเบื่อเกิน พูดไปก็เท่านั้น

      ๒. ใช้เป็นคำขึ้นต้นประโยคในคำประพันธ์ เพื่อแสดงความรำพึง รำพัน วิงวอน หรือปลอบโยน ได้แก่ อ้า โอ้ โอ้ว่า เป็นต้น

    ตัวอย่างเช่น
    อ้าแม่พิมลสกลโฉม                        สิริโสมลออตา
จากกันประหนึ่งจะมรณา                     เพราะวิบัติอุบัติเห็น

    โอ้เวรกรรมจำพรากต้องจากนุช          พี่แสนสุดอาลัยใจถวิล
เมื่อสิ้นน้องเหมือนหนึ่งว่าสิ้นฟ้าดิน           เป็นอันสิ้นตระกูลสูญทั้งปวง

                       โอ้ว่ารักหนอรักนี้หนักจิต                 บางคราวคิดว่าสนุกเป็นสุขี
บางคราวร้อนแรงหึงตรึงทวี                  บางครั้งกลุ่มฤดีนี่อย่างไร

   ๒. อุทานเสริมบท คือ  คำอุทานที่ใช้เป็นคำสร้อยหรือคำเสริมบทต่างๆ เพื่อให้มีคำครบถ้วนตามที่ต้องการหรือให้มีความกระชับหรือให้สลวยขึ้น มี ๓ ชนิด คือ

      ๒.๑ อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำสร้อย คือ อุทานใช้เป็นสร้อยของโคลง และร่ายหรือใช้เป็นคำลงท้ายในบทประพันธ์ แสดงว่าจบบริบูรณ์แล้ว ได้แก่ ฮา เฮย แฮ แล นา รา เอย เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เช้าค่ำพร่ำสั่งสอน ไปอีก หน่อยรา
          - ขาดทรัพย์อับมิตรหมอง หม่นจิต จริงแฮ

      ๒.๒ อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำแทรก คือ อุทานที่ใช้แทรกลงในระหว่างคำหรือข้อความ
     ตัวอย่างเช่น 
- มาเถิดนาแม่นา
- สัตว์อะไรเอ่ยมี ๔ ขา
- เวียนมาสิเวียนไป
- แมวเอ๋ยแมวเหมียว

       ๒.๓ อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำเสริม คือ อุทานที่ใช้ต่อถ้อยเสริมคำให้ยาวออกไป แต่ไม่ต้องการความหมายที่เสริมนั้น
    ตัวอย่างเช่น
- เที่ยงนางกลางคืน
- ลูกเต้าเหล่าใคร
- วัดวาอาราม
- ลดลาวาศอก
- ผักหญ้าปลายำ
- หนังสือหนังหา



หน้าที่ของคำอุทาน
   ๑. ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกของผู้พูด  ตัวอย่างเช่น
ตายจริง!  ฉันลืมเอากระเป๋าสตางค์มา
โธ่! เธอคงจะหนาวมากละซิ
เอ๊ะ! ใครกันที่นำดอกไม้มาวางไว้ที่โต๊ะของฉัน


   ๒. ทำหน้าที่เพิ่มน้ำหนักของคำ  ซึ่งได้แก่คำอุทานเสริมบท  ตัวอย่างเช่น
ทำเสร็จเสียทีจะได้หมดเรื่องหมดราวกันไป
เมื่อไรเธอจะหางงหางานทำเสียที
เธอเห็นฉันเป็นหัวหลักหัวตอหรืออย่างไร


   ๓. ทำหน้าที่ประกอบข้อความในคำประพันธ์  ตัวอย่างเช่น
                   - แมวเอ๋ยแมวเหมียว
                   - มดเอ๋ยมดแดง
                   - กอ เอ๋ย กอไก่ 





บรรณานุกรม
          กำชัย  ทองหล่อ. (๒๕๓๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.

          วิเชียร  เกษประทุม. (๒๕๕๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : พ.ศ. พัฒนา.

คำสันธาน



😉สันธาน
สันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยค ข้อความกับข้อความ หรือเชื่อมความให้สละสลวย 

ชนิดของคำสันธาน
   ๑. เชื่อมความที่คล้อยตามกัน ได้แก่ ก็ กับ และ จึง เช่น ว่า ให้ คือ ทั้ง ครั้น..ก็ ครั้น..จึง เมื่อ..ก็ พอ..ก็ ทั้ง..ก็ ทั้ง..กับ ทั้ง..แล ก็คือ ก็ได้ เท่ากับ เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- ทั้งพ่อและแม่ของผมเป็นคนใต้
- พอทำการบ้านเสร็จแล้วฉันก็นอน
   ๒. เชื่อมความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่ แต่ แต่ว่า แต่ทว่า กว่า..ก็ ถึง..ก็ เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
                   - ผมต้องการพูดกับเขา แต่เขาไม่ยอมพูดกับผม
                   - กว่าเราจะเรียนจบเพื่อนๆ ็ทำงานหมดแล้ว
   ๓. เชื่อมความที่เป็นเหตุผลกัน  ได้แก่ เพราะ เพราะ..จึง ด้วย จึง ฉะนั้น ฉะนี้ ค่าที่ ด้วยว่า เหตุเพราะ เหตุว่า เพราะว่า ฉะนั้น..จึง เพราะฉะนั้น เหตุฉะนี้ เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- นักเรียนมาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก
- เพราะวาสนาไม่ออกกำลังกายเธอจึงอ้วนมาก
   ๔. เชื่อมความที่เลือกเอา ได้แก่ หรือ ไม่ก็ ไม่เช่นนั้น มิฉะนั้น หรือมิฉะนั้น เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
          - นักเรียนชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์หรือภาษาไทย
- เธอคงไปซื้อของหรือไม่ก็ไปดูหนัง

หน้าที่ของคำสันธาน
   ๑. เชื่อมคำกับคำให้ติดต่อกัน ตัวอย่างเช่น
   - อ่านกับเขียนเป็นทักษะที่สำคัญในภาษาไทย
   - ฉันพบเงินและทองอยู่ในหีบ
   - เขาเลี้ยงไก่ เป็ด ห่าน และนก
   ๒. เชื่อมประโยคกับประโยคให้ติดต่อกัน ตัวอย่างเช่น
    - สามีเดินข้างหน้าและภรรยาเดินข้างหลัง
    - เขาชอบแกงเผ็ดแต่ฉันชอบแกงจืด
    - เพราะเขาเป็นคนมีน้ำใจทุกคนจึงรักเขา        
    - เธอมาทำงานหรือเธอมาเล่น
   ๓. เชื่อมข้อความกับข้อความให้สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ตัวอย่างเช่น
    - ขึ้นชื่อว่าทรัพย์ย่อมเป็นสิ่งที่พึ่งปรารถนา แต่เราจะหามาได้ต้องอาศัยความพยายาม เหตุฉะนั้นความพยายามจึงเป็นบ่อเกิดของการได้มาซึ่งทรัพย์
   ๔. เชื่อมความเพื่อให้สละสลวย ตัวอย่างเช่น
   - อันว่าทรัพย์สมบัตินั้นเป็นของนอกกาย ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้
   - คนเราก็ต้องมีผิดพลาดกันบ้างเป็นธรรมดา
   - อย่างไรก็ตามฉันต้องชวยเขาให้ได้



บรรณานุกรม
          กำชัย  ทองหล่อ. (๒๕๓๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.

          วิเชียร  เกษประทุม. (๒๕๕๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : พ.ศ. พัฒนา.

คำบุพบท



😅คำบุพบท
คำบุพบท คือ คำที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำหรือประโยค เพื่อให้รู้ว่าคำหรือประโยคที่อยู่หลังบุพบทนั้นมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคำหรือประโยคที่อยู่ข้างหน้าอย่างไร

ชนิดของคำบุพบท       
             ๑. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานที่ ได้แก่ ใน นอก บน ใต้ เหนือ ริม ข้างหน้าหลัง ใกล้ ไกล ที่ จาก ถึง ยัง เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - เงินอยู่ในกระเป๋า
                   - พี่นอนบนเตียง
                   - เขามาจากนครสวรรค์
                   - ทหารเดินทางไปยังภาคใต้
             ๒. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับความประสงค์ ได้แก่ เพื่อ โดย ด้วย แก่ ตาม เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - เขาทำเพื่อชื่อเสียง
                   - เขาให้ฉันทำงานได้ตามสะดวก
                   - เราตกลงกันด้วยดี
                   - เขาเห็นแก่เงิน
             ๓. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเวลา ได้แก่  เมื่อ ใน ณ แต่ ตั้งแต่ จน จนกระทั่ง สำหรับ เฉพาะ เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - เขามาเมื่อเช้า
                   - เขาต่อสู้กันตั้งแต่เช้าจนเย็น
                   - ฉันรอเธอจนกระทั่งเที่ยง
                   - เงินนี้ให้ใช้เฉพาะสัปดาห์เดียว
             ๔. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของ ได้แก่ ของ แห่ง เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - บ้านนี้เป็นสมบัติของปู่
                   - ธนาคารแห่งประเทศไทย
             ๕. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเครื่องใช้ ได้แก่ ด้วย โดย เพราะ กับ ตาม เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - ปลาหมอตายเพราะปาก
                   - เราต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
                   - เรื่องนี้ฉันได้ยินมากับหู
                   พ่อเดินทางโดยรถไฟ
             ๖. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นผู้รับ ได้แก่ กับ แก่ แด่ ต่อ เพื่อ สำหรับ  เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                    เราควรมีความอดทนเพื่อความสำเร็จ
                   อาหารจานนี้สำหรับคุณคนเดียว
                   - จำเลยยื่นคำร้องต่อศาล
                   คุณยายถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
              ๗. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการประมาณหรือคาดคะเน ได้แก่ เกือบ ราว สัก  เป็นต้น
               ตัวอย่างเช่น
                   - ผู้ชมการแสดงโขนเกือบหนึ่งพันคน
                   - ฉันขอยืมเงินเธอสักสองร้อยบาท
                   - เขาเดินทางไปได้ราวสามกิโลเมตร

          หน้าที่ของคำบุพบท
             ๑. บุพบทนำหน้าคำนาม ตัวอย่างเช่น
             - ปากกาของครูหาย
             - ฉันพูดกับน้อง
             - เขานั่งบนเก้าอี้
             ๒. บุพบทนำหน้าคำสรรพนาม ตัวอย่างเช่น
             - ฉันคิดถึงเธอเสมอ
             - หนังสือของเขาอยู่ที่ฉัน
             - แม่ให้เงินแก่ฉัน
             ๓. บุพบทนำหน้าคำกริยา ตัวอย่างเช่น
             - เขาเห็นคนแก่กิน
             - ลุงทำงานจนกระทั่งตาย
             - ตามีไว้สำหรับดู
             ๔. บุพบทนำหน้าคำวิเศษณ์ ตัวอย่างเช่น
             - เธอต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว
             - งานนี้สำเร็จลงด้วยดี
             - ฉันให้การไปตามจริง


บรรณานุกรม
          กำชัย  ทองหล่อ. (๒๕๓๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.

วิเชียร  เกษประทุม. (๒๕๕๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : พ.ศ. พัฒนา.

คำวิเศษณ์



😄คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ประกอบคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น

ชนิดของคำวิเศษณ์
   ๑. ลักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกลักษณะต่างๆ
    ตัวอย่างเช่น
- มะม่วงผลนี้มีรสเปรี้ยว
- นักเรียนดีต้องอ่านหนังสือ
   ๒. กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบเวลา ได้แก่ เร็ว ก่อน เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ นาน เสมอ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เขามาโรงเรียนสาย
- พรุ่งนี้เป็นวันเกิดของคุณแม่
   ๓. สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกสถานที่  ได้แก่ บน ล่าง เหนือ ใต้ ใน นอก ใกล้ ไกล เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เขาอยู่ไกลจากโรงเรียน
- นกอยู่บนต้นไม้
   ๔. ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกจำนวน จำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ
      ๔.๑ บอกจำนวนนับ เช่น หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า
      ๔.๒ บอกจำนวนปริมาณ เช่น จุ มาก ทั้งหลาย ทั้งปวง ทั้งหมด บรรดา บ้าง ต่าง กัน  
   ๕. นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกความชี้เฉพาะ ได้แก่ นี้ นั้น โน้น นี่ นั่น โน่นทั้งนี้ ทั้งนั้น อย่างนี้ อย่างนั้น ดังนี้     ดังนั้น แท้ จริง แน่นอน ทีเดียว เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เขาอยู่บ้านหลังนั้น
- เขาเป็นคนขยันแน่นอน
    ๖. อนิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกความไม่เฉพาะหรือไม่จำกัดลงไป คำพวกนี้จะต้องไม่ใช้ในข้อความที่เป็นคำถาม จึงจะนับว่าเป็นอนิยมวิเศษณ์ ถ้าไปใช้ในข้อความที่เป็นคำถามหรือข้อสงสัย เรียกว่า “ปฤจฉาวิเศษณ์” ได้แก่ ใด ไหน อะไร ทำไม ฉันใด เช่นไร อันใด อย่างไร เท่าไร เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เธอจะมาเวลาใดก็ได้
- เธอจะทำอย่างไรก็ทำเถอะ
   ๗. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกเนื้อความเป็นคำถามหรือแสดงความสงสัย ได้แก่ ไหน อะไร ทำไม ฉันใด ไหม อันใด อย่างไร เท่าไร ไฉน ใด เหตุไร อย่างไร เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- ตัวอะไรอยู่ใต้โต๊ะ
- เสื้อตัวนี้ราคาเท่าไร
   ๘. ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกเสียงร้องเรียกและเสียงขานรับ เพื่อแสดงความสละสลวยของภาษา ได้แก่ คะ ค่ะ ขา ครับ จ๊ะ จ๋า จ้า ขอรับ เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- คุณครับมีคนมาหา
- คุณครูขา  สวัสดีค่ะ
    ๙. ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกความปฏิเสธ เช่น ไม่ ไม่ได้ มิ มิได้ ไม่ใช่ หามิได้ เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- ผมไม่ได้ทำสิ่งนั้น
- ของนี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันจึงรับไว้ไม่ได้
   ๑๐. ประพันธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ เพื่อเชื่อมประโยคให้มีวามเกี่ยวข้องกัน ได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน อย่างที่ ที่ว่า คือ เพื่อ เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
เขาคิดอย่างที่เธอคิด
- เขาทำความดีอันหาที่สุดมิได้

หน้าที่ของคำวิเศษณ์
   ๑. คำวิเศษณ์ทำหน้าทีขยายคำนาม ตัวอย่างเช่น
   - เด็กน้อยร้องไห้
   - ผักสีเขียวให้ประโยชน์แก่ร่างกาย
   ๒. คำวิเศษณ์ทำหน้าที่ขยายคำสรรพนาม ตัวอย่างเช่น
   - ฉันเองเป็นคนจัดการเรื่องนี้
   - เราทั้งหลายสัญญาว่าจะซื่อสัตย์
   ๓. คำวิเศษณ์ทำหน้าที่ขยายคำกริยา ตัวอย่างเช่น
   - หนุ่มสาวทำงานว่องไว
   - เขาเดินช้า
   ๔. คำวิเศษณ์ทำหน้าที่ขยายคำวิเศษณ์ ตัวอย่างเช่น
   - พายุพัดแรงมาก ( มาก ขยายคำวิเศษณ์ แรง)
   - เขาร้องเพลงเพราะจริง ๆ (จริง ๆ ขยายคำวิเศษณ์ เพราะ)


บรรณานุกรม
          กำชัย  ทองหล่อ. (๒๕๓๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.

          วิเชียร  เกษประทุม. (๒๕๕๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : พ.ศ. พัฒนา.