วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

คำวิเศษณ์



😄คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ประกอบคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น

ชนิดของคำวิเศษณ์
   ๑. ลักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกลักษณะต่างๆ
    ตัวอย่างเช่น
- มะม่วงผลนี้มีรสเปรี้ยว
- นักเรียนดีต้องอ่านหนังสือ
   ๒. กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบเวลา ได้แก่ เร็ว ก่อน เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ นาน เสมอ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เขามาโรงเรียนสาย
- พรุ่งนี้เป็นวันเกิดของคุณแม่
   ๓. สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกสถานที่  ได้แก่ บน ล่าง เหนือ ใต้ ใน นอก ใกล้ ไกล เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เขาอยู่ไกลจากโรงเรียน
- นกอยู่บนต้นไม้
   ๔. ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกจำนวน จำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ
      ๔.๑ บอกจำนวนนับ เช่น หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า
      ๔.๒ บอกจำนวนปริมาณ เช่น จุ มาก ทั้งหลาย ทั้งปวง ทั้งหมด บรรดา บ้าง ต่าง กัน  
   ๕. นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกความชี้เฉพาะ ได้แก่ นี้ นั้น โน้น นี่ นั่น โน่นทั้งนี้ ทั้งนั้น อย่างนี้ อย่างนั้น ดังนี้     ดังนั้น แท้ จริง แน่นอน ทีเดียว เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เขาอยู่บ้านหลังนั้น
- เขาเป็นคนขยันแน่นอน
    ๖. อนิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกความไม่เฉพาะหรือไม่จำกัดลงไป คำพวกนี้จะต้องไม่ใช้ในข้อความที่เป็นคำถาม จึงจะนับว่าเป็นอนิยมวิเศษณ์ ถ้าไปใช้ในข้อความที่เป็นคำถามหรือข้อสงสัย เรียกว่า “ปฤจฉาวิเศษณ์” ได้แก่ ใด ไหน อะไร ทำไม ฉันใด เช่นไร อันใด อย่างไร เท่าไร เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เธอจะมาเวลาใดก็ได้
- เธอจะทำอย่างไรก็ทำเถอะ
   ๗. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกเนื้อความเป็นคำถามหรือแสดงความสงสัย ได้แก่ ไหน อะไร ทำไม ฉันใด ไหม อันใด อย่างไร เท่าไร ไฉน ใด เหตุไร อย่างไร เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- ตัวอะไรอยู่ใต้โต๊ะ
- เสื้อตัวนี้ราคาเท่าไร
   ๘. ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกเสียงร้องเรียกและเสียงขานรับ เพื่อแสดงความสละสลวยของภาษา ได้แก่ คะ ค่ะ ขา ครับ จ๊ะ จ๋า จ้า ขอรับ เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- คุณครับมีคนมาหา
- คุณครูขา  สวัสดีค่ะ
    ๙. ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบบอกความปฏิเสธ เช่น ไม่ ไม่ได้ มิ มิได้ ไม่ใช่ หามิได้ เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- ผมไม่ได้ทำสิ่งนั้น
- ของนี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันจึงรับไว้ไม่ได้
   ๑๐. ประพันธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ เพื่อเชื่อมประโยคให้มีวามเกี่ยวข้องกัน ได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน อย่างที่ ที่ว่า คือ เพื่อ เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
เขาคิดอย่างที่เธอคิด
- เขาทำความดีอันหาที่สุดมิได้

หน้าที่ของคำวิเศษณ์
   ๑. คำวิเศษณ์ทำหน้าทีขยายคำนาม ตัวอย่างเช่น
   - เด็กน้อยร้องไห้
   - ผักสีเขียวให้ประโยชน์แก่ร่างกาย
   ๒. คำวิเศษณ์ทำหน้าที่ขยายคำสรรพนาม ตัวอย่างเช่น
   - ฉันเองเป็นคนจัดการเรื่องนี้
   - เราทั้งหลายสัญญาว่าจะซื่อสัตย์
   ๓. คำวิเศษณ์ทำหน้าที่ขยายคำกริยา ตัวอย่างเช่น
   - หนุ่มสาวทำงานว่องไว
   - เขาเดินช้า
   ๔. คำวิเศษณ์ทำหน้าที่ขยายคำวิเศษณ์ ตัวอย่างเช่น
   - พายุพัดแรงมาก ( มาก ขยายคำวิเศษณ์ แรง)
   - เขาร้องเพลงเพราะจริง ๆ (จริง ๆ ขยายคำวิเศษณ์ เพราะ)


บรรณานุกรม
          กำชัย  ทองหล่อ. (๒๕๓๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.

          วิเชียร  เกษประทุม. (๒๕๕๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : พ.ศ. พัฒนา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น