วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

คำอุทาน






😘 คำอุทาน
คำอุทาน คือ คำที่แสดงถึงเสียงที่เปล่งออกมาในเวลาดีใจ เสียใจ ตกใจ ประหลาดใจ หรือ กริ่งใจ เป็นต้น หรือเป็นคำที่ใช้ต่อถ้อยเสริมบทให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น

ชนิดของคำอุทาน
   ๑. อุทานบอกอาการ
      ๑. ใช้แสดงความรู้สึกต่างๆในการพูด เช่น
ชิชิๆ! ชิชะ!      ใช้แสดงความรู้สึก          เสียดายหรือโกรธ
โธ่!                 ใช้แสดงความรู้สึก          อนาถใจ หรือสงสาร
พุทโธ่!             ใช้แสดงความรู้สึก          สงสาร น้อยใจ เสียใจ
บ๊ะ! วะ!           ใช้แสดงความรู้สึก          ประหลาดใจ
วา!                ใช้แสดงความรู้สึก          หมดหวังหรืออ่อนใจ
หื้อหือ!           ใช้แสดงความรู้สึก          ห้ามหรือทักท้วง
เหม่!              ใช้แสดงความรู้สึก          โกรธ
แหม!             ใช้แสดงความรู้สึก          แปลกหรือประหลาใจ
อนิจจา!          ใช้แสดงความรู้สึก          สงสารหรือสลดใจ
อ๊ะ!               ใช้แสดงความรู้สึก          ประหลาดใจ อย่างไม่พอใจ
อือ!               ใช้แสดงความรู้สึก          ประหลาดใจ เจ็บปวด
อุบ๊ะ!              ใช้แสดงความรู้สึก          ไม่พอใจ
เอ!                ใช้แสดงความรู้สึก          แปลกใจ
เอ๊ะ!               ใช้แสดงความรู้สึก          ฉงนหรือไม่เข้าใจ
เอ้อเฮอ!          ใช้แสดงความรู้สึก          พิศวงหรือประหลาดใจ
โอย! โอ้ย!        ใช้แสดงความรู้สึก          เจ็บปวด
ฮะ!                ใช้แสดงความรู้สึก          ประหลาดใจ
ฮ้า!                ใช้แสดงความรู้สึก          ห้าม ประหลาดใจ เอะใจ
ฮึ!                 ใช้แสดงความรู้สึก          ไม่พอใจ เอ้ ผิดหวัง หรือไม่พอใจ
เฮ้ย!               ใช้แสดงความรู้สึก          ดุ ตวาด หรือให้รู้ตัว
เฮ้ว!               ใช้แสดงความรู้สึก          เยอะเย้ย
เฮ้อ!               ใช้แสดงความรู้สึก          ถอนใจใหญ่
ไฮ้!                ใช้แสดงความรู้สึก          ห้ามหรือขัดขวาง

     ตัวอย่างเช่น
 - อุ๊ยเจ็บจังเลย
 - โอ้โฮน่าตื่นเต้นจริงๆ
 - โอ๋อย่าร้องไห้ไปเลยลูก
 - อนิจจาไม่น่าเลย ช่างน่าสงสารเสียจริงๆ
 - เฮ้อผมละเบื่อเกิน พูดไปก็เท่านั้น

      ๒. ใช้เป็นคำขึ้นต้นประโยคในคำประพันธ์ เพื่อแสดงความรำพึง รำพัน วิงวอน หรือปลอบโยน ได้แก่ อ้า โอ้ โอ้ว่า เป็นต้น

    ตัวอย่างเช่น
    อ้าแม่พิมลสกลโฉม                        สิริโสมลออตา
จากกันประหนึ่งจะมรณา                     เพราะวิบัติอุบัติเห็น

    โอ้เวรกรรมจำพรากต้องจากนุช          พี่แสนสุดอาลัยใจถวิล
เมื่อสิ้นน้องเหมือนหนึ่งว่าสิ้นฟ้าดิน           เป็นอันสิ้นตระกูลสูญทั้งปวง

                       โอ้ว่ารักหนอรักนี้หนักจิต                 บางคราวคิดว่าสนุกเป็นสุขี
บางคราวร้อนแรงหึงตรึงทวี                  บางครั้งกลุ่มฤดีนี่อย่างไร

   ๒. อุทานเสริมบท คือ  คำอุทานที่ใช้เป็นคำสร้อยหรือคำเสริมบทต่างๆ เพื่อให้มีคำครบถ้วนตามที่ต้องการหรือให้มีความกระชับหรือให้สลวยขึ้น มี ๓ ชนิด คือ

      ๒.๑ อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำสร้อย คือ อุทานใช้เป็นสร้อยของโคลง และร่ายหรือใช้เป็นคำลงท้ายในบทประพันธ์ แสดงว่าจบบริบูรณ์แล้ว ได้แก่ ฮา เฮย แฮ แล นา รา เอย เป็นต้น
    ตัวอย่างเช่น
- เช้าค่ำพร่ำสั่งสอน ไปอีก หน่อยรา
          - ขาดทรัพย์อับมิตรหมอง หม่นจิต จริงแฮ

      ๒.๒ อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำแทรก คือ อุทานที่ใช้แทรกลงในระหว่างคำหรือข้อความ
     ตัวอย่างเช่น 
- มาเถิดนาแม่นา
- สัตว์อะไรเอ่ยมี ๔ ขา
- เวียนมาสิเวียนไป
- แมวเอ๋ยแมวเหมียว

       ๒.๓ อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำเสริม คือ อุทานที่ใช้ต่อถ้อยเสริมคำให้ยาวออกไป แต่ไม่ต้องการความหมายที่เสริมนั้น
    ตัวอย่างเช่น
- เที่ยงนางกลางคืน
- ลูกเต้าเหล่าใคร
- วัดวาอาราม
- ลดลาวาศอก
- ผักหญ้าปลายำ
- หนังสือหนังหา



หน้าที่ของคำอุทาน
   ๑. ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกของผู้พูด  ตัวอย่างเช่น
ตายจริง!  ฉันลืมเอากระเป๋าสตางค์มา
โธ่! เธอคงจะหนาวมากละซิ
เอ๊ะ! ใครกันที่นำดอกไม้มาวางไว้ที่โต๊ะของฉัน


   ๒. ทำหน้าที่เพิ่มน้ำหนักของคำ  ซึ่งได้แก่คำอุทานเสริมบท  ตัวอย่างเช่น
ทำเสร็จเสียทีจะได้หมดเรื่องหมดราวกันไป
เมื่อไรเธอจะหางงหางานทำเสียที
เธอเห็นฉันเป็นหัวหลักหัวตอหรืออย่างไร


   ๓. ทำหน้าที่ประกอบข้อความในคำประพันธ์  ตัวอย่างเช่น
                   - แมวเอ๋ยแมวเหมียว
                   - มดเอ๋ยมดแดง
                   - กอ เอ๋ย กอไก่ 





บรรณานุกรม
          กำชัย  ทองหล่อ. (๒๕๓๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.

          วิเชียร  เกษประทุม. (๒๕๕๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : พ.ศ. พัฒนา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น