วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

คำบุพบท



😅คำบุพบท
คำบุพบท คือ คำที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำหรือประโยค เพื่อให้รู้ว่าคำหรือประโยคที่อยู่หลังบุพบทนั้นมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคำหรือประโยคที่อยู่ข้างหน้าอย่างไร

ชนิดของคำบุพบท       
             ๑. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานที่ ได้แก่ ใน นอก บน ใต้ เหนือ ริม ข้างหน้าหลัง ใกล้ ไกล ที่ จาก ถึง ยัง เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - เงินอยู่ในกระเป๋า
                   - พี่นอนบนเตียง
                   - เขามาจากนครสวรรค์
                   - ทหารเดินทางไปยังภาคใต้
             ๒. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับความประสงค์ ได้แก่ เพื่อ โดย ด้วย แก่ ตาม เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - เขาทำเพื่อชื่อเสียง
                   - เขาให้ฉันทำงานได้ตามสะดวก
                   - เราตกลงกันด้วยดี
                   - เขาเห็นแก่เงิน
             ๓. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเวลา ได้แก่  เมื่อ ใน ณ แต่ ตั้งแต่ จน จนกระทั่ง สำหรับ เฉพาะ เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - เขามาเมื่อเช้า
                   - เขาต่อสู้กันตั้งแต่เช้าจนเย็น
                   - ฉันรอเธอจนกระทั่งเที่ยง
                   - เงินนี้ให้ใช้เฉพาะสัปดาห์เดียว
             ๔. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของ ได้แก่ ของ แห่ง เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - บ้านนี้เป็นสมบัติของปู่
                   - ธนาคารแห่งประเทศไทย
             ๕. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเครื่องใช้ ได้แก่ ด้วย โดย เพราะ กับ ตาม เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                   - ปลาหมอตายเพราะปาก
                   - เราต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
                   - เรื่องนี้ฉันได้ยินมากับหู
                   พ่อเดินทางโดยรถไฟ
             ๖. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นผู้รับ ได้แก่ กับ แก่ แด่ ต่อ เพื่อ สำหรับ  เป็นต้น
              ตัวอย่างเช่น
                    เราควรมีความอดทนเพื่อความสำเร็จ
                   อาหารจานนี้สำหรับคุณคนเดียว
                   - จำเลยยื่นคำร้องต่อศาล
                   คุณยายถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
              ๗. บุพบทที่แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการประมาณหรือคาดคะเน ได้แก่ เกือบ ราว สัก  เป็นต้น
               ตัวอย่างเช่น
                   - ผู้ชมการแสดงโขนเกือบหนึ่งพันคน
                   - ฉันขอยืมเงินเธอสักสองร้อยบาท
                   - เขาเดินทางไปได้ราวสามกิโลเมตร

          หน้าที่ของคำบุพบท
             ๑. บุพบทนำหน้าคำนาม ตัวอย่างเช่น
             - ปากกาของครูหาย
             - ฉันพูดกับน้อง
             - เขานั่งบนเก้าอี้
             ๒. บุพบทนำหน้าคำสรรพนาม ตัวอย่างเช่น
             - ฉันคิดถึงเธอเสมอ
             - หนังสือของเขาอยู่ที่ฉัน
             - แม่ให้เงินแก่ฉัน
             ๓. บุพบทนำหน้าคำกริยา ตัวอย่างเช่น
             - เขาเห็นคนแก่กิน
             - ลุงทำงานจนกระทั่งตาย
             - ตามีไว้สำหรับดู
             ๔. บุพบทนำหน้าคำวิเศษณ์ ตัวอย่างเช่น
             - เธอต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว
             - งานนี้สำเร็จลงด้วยดี
             - ฉันให้การไปตามจริง


บรรณานุกรม
          กำชัย  ทองหล่อ. (๒๕๓๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์.

วิเชียร  เกษประทุม. (๒๕๕๗). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : พ.ศ. พัฒนา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น